เดวิด เกตตา (David Guetta) ขายแคตตาล็อกเพลงของเขาให้กับ วอเนอร์ มิวสิก (Warner Music) ได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ดีลนี้ยังรวมถึงเพลงในอนาคตที่เดวิดจะออกใหม่อีกด้วย
ชื่อของ เดวิด เกตตา น่าจะคุ้นหูของหลายๆ คนดี เพราะเขาได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Grandfather of EDM’ หรือ เจ้าพ่อแห่งวงการดนตรี EDM ที่เป็นเจ้าของเพลงดังอย่าง ‘Titanium และ ‘Play Hard’ และเพลงยอดฮิตอีกมากมาย และกวาดรายได้ไปได้ถึงประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่กว่าเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นดีเจอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนทุกวันนี้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
ความฝันวัยเด็ก
เดวิดเกิดที่ปารีส ฝรั่งเศส เขาเริ่มฝันอยากเป็นดีเจตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยช่วงนั้นอาชีพดีเจยังไม่เป็นที่รู้จักเลย และแน่นอนว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีรายได้แน่นอน แต่เขาก็ชอบดนตรีมากๆ และลองศึกษาวิธีการแต่งเพลงด้วยตัวเอง ซึ่งก็ยากมากๆ สำหรับเขา เพราะว่าครอบครัวก็ไม่ได้เป็นนักดนตรีหรือมีประสบการณ์ในด้านดนตรีเลย
แม่ของเขาเป็นนักจิตวิทยา ส่วนพ่อเขาเป็นนักสังคมวิทยา ด้วยความที่ทั้งคู่ทำอาชีพที่ดูค่อนข้างจริงจัง พวกเขาจึงไม่เข้าใจในอาชีพดีเจ และพยายามห้ามไม่ให้เดวิดได้ทำตามความฝันของตัวเอง เพราะคิดว่าเขาคงไม่มีอนาคตจากการเป็นดีเจอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี เดวิดยังยืนหยัดในความฝันของตัวเอง และพร้อมเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง เพราะเขาอยากทำในสิ่งที่เขาชอบ และเขาโชคดีที่มันสำเร็จ
จุดเปลี่ยนชีวิต
เขาเริ่มเส้นทางดนตรีอย่างจริงจัง หลังจากที่เขาไปเที่ยวคลับที่ชื่อว่า Shoom ที่ลอนดอน โดยที่คลับมีดีเจ แดนนี่ แรมปริง (Danny Dampling) แสดงคอนเสิร์ตอยู่ท่ามกลางแสงไฟ และไม่ได้เป็นดีเจธรรมดาทั่วๆ ไปที่ไปหลบเปิดเพลงอยู่ในมุมมืด “การไปคลับครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตของผมอย่างสมบูรณ์” เดวิดกล่าว หลังจากที่เขากลับมาปารีส เขาร่วมกับภรรยา เพื่อเปิดร้านอาหารสองร้าน และบาร์แห่งหนึ่ง
เขาบอกว่าช่วงเวลานี้เป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเขา แต่ในด้านของธุรกิจมันก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในที่สุดเขาจึงต้องตัดสินใจปิดกิจการไป แต่เขาก็ยังพยายามต่อไป โดยการเริ่มทำเพลงใหม่ๆ และได้ไปร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ เช่น Beats Electronics ผู้ผลิตหูฟังที่มีชื่อเสียง และ TAG Heuer ผู้ผลิตนาฬิกาหรู การไปร่วมงานหรือโฆษณาให้กับแบรนด์ต่างๆ ทำให้เขารู้สึกแปลกๆ และไม่ค่อยชอบใจ แต่มันเป็นเรื่องปกติสำหรับดีเจไปแล้ว ดีเจทุกคนต่างก็ทำกันแบบนี้ และนี่ก็เป็นสัญญาณของความสำเร็จของเขา
ครอบครัวยอมรับในที่สุด
ภายหลังครอบครัวของเขาก็เข้าใจเขามากขึ้น หลังจากที่เขาเริ่มแสดงให้เห็นว่า ดีเจเองก็สามารถเป็นอาชีพที่ดีได้เหมือนกัน แม่ของผมบอกว่า เธอภูมิใจในตัวผมที่สามารถเป็นศิลปินได้ในที่สุด ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองว่า แม่จะพูดคำนี้กับผม เมื่อก่อนเธอยังบอกว่า อาชีพดีเจดูไม่มีอนาคตอยู่เลย
การมีแรงจูงใจอยู่เสมอ
เดวิดเป็นคนที่หลงไหลกับดนตรีมากๆ “ผมทำอาชีพนี้มาตั้งหลายปี แต่งานยังดูสดใหม่สำหรับผมอยู่เลย”เ ดวิดกล่าว อาชีพนักสร้างสรรค์ผลงานอย่างดีเจต้องคอยสรรสร้างงานใหม่ๆ ตลอดเวลา แน่นอนว่าเขาพยายามไม่ทำผลงานในรูปแบบเดิมๆ และลองดนตรีสไตล์ใหม่ๆ อยู่เสมอ
ไม่สนใจคนเกลียด
แน่นอนว่ามีคนชอบ ก็ต้องมีคนเกลียด เพลงของเดวิดถูกบางคนมองว่าเป็น เพลงขยะที่แต่งขึ้นเพราะอยากให้มันได้รับความนิยมในคนหมู่มาก แม้แต่เพื่อนของเขา โจเอล ซิมเมอร์แมน (Joel Zimmerman) หรือที่รู้กันว่า ‘เดดเมาส์’ ก็ยังเรียกเขาว่า ‘ไอดีเจที่มีค่าจ้างสูงเกินจริง’ แต่เดวิดกลับไม่สนใจคนที่เกลียดเขาเลย “ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมอยากดังจนลืมต้องลดคุณภาพดนตรีของผมเลย ผมเพียงแค่ทำในสิ่งที่ผมชอบทำมาตลอดและแค่พยายามทำให้เพลงของผมเข้าถึงผู้คนมากขึ้นแค่นั้นเอง”
ความสำเร็จ
ตลอดจนทุกวันนี้ เดวิดขายมาแล้ว 50 อัลบัม ภายใต้ค่ายเพลงของเขาเองที่ชื่อว่า Jack Back Records สิ่งหนึ่งที่ทำให้เดวิดแตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ คือ เขาเป็นเจ้าของเพลงของตัวเอง ในขณะที่ศิลปินส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของของเพลงตัวเอง และยกให้กับค่ายเพลงที่ตัวเองสังกัดอยู่ไป ซึ่งมีข้อผูกมัดต่างๆ อยู่มากมาย พักหลังนี้ ด้วยการมาของระบบสตรีมมิงเพลง วงการเพลงเติบโตต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน รวมถึงการเติบโตถึง 7.4% เมื่อปีที่แล้ว จนมีมูลค่าถึง 21.6 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ระบบสตรีมมิงได้เพิ่มมูลค่าของลิขสิทธ์ดนตรี และเพลงเก่าๆ ที่อาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว เรียกได้ว่าช่วงหลังมานี้คือยุคทองของวงการดนตรีเลย
นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้ว เดวิดได้ทำลายสถิติ Guinness World Records ได้ถึงสองรางวัล โดยเป็นดีเจที่มียอดไลก์สูงที่สุดบนเฟซบุ๊ก และเป็นผู้จัดการแสดงสดบนเฟซบุ๊กที่มีผู้ชมมากที่สุด
คำแนะนำสำหรับดีเจรุ่นใหม่
เดวิดบอกว่า สิ่งสำคัญสำหรับดีเจใหม่ๆ คือการหาจุดสมดุลระหว่าง ความแตกต่างจากคนอื่น กับการเอาใจคนฟัง “ถ้าคุณอยากมีชื่อเสียง คุณต้องเอาใจคนฟัง แต่ต้องเป็นเอาใจในทางที่คนอื่นไม่ทำกัน” เดวิดกล่าว การเอาใจคนฟังอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้เราเป็นดีเจทั่วๆ ไป แต่ไม่ได้เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่การมีเอกลักษณ์มากเกินไป ทำให้คนไม่เข้าใจในดนตรีของเรา