ทุกวันนี้คนชอบกล่าวหรือกระทั่งเถียงกันในประเด็นว่า “ดนตรีร็อคตายแล้ว” ปัญหาคือแล้ว “ความตาย” ที่ว่า มันมี “นิยามเชิงปฏิบัติการ” ยังไง หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ อะไรต้องเกิดขึ้นถึงจะเคลมว่าดนตรีร็อคตายไปแล้ว แน่นอน นี่เป็นสิ่งที่เถียงกันได้ไม่จบ
อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ดูจากจะเกิดจากการที่เราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากกว่า เพราะถ้าเราคิดนิดหน่อยถึงตอน “การเกิด” ของร็อคแอนด์โรลมันจะตอบง่ายขึ้นมาก เพราะ “การเกิด” ของร็อคแอนด์โรลนั้นในแง่หนึ่งก็คือ “ความตาย” ของดนตรีแจ๊ส ที่เป็นดนตรียอดนิยมก่อนหน้าร็อคแอนด์โรล
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน ในทศวรรษ 1920s ดนตรี “แจ๊ส” มันยิ่งใหญ่มาก คือมันขยายตัวในวงกว้างสุดๆ ในอเมริกาและในโลก เรียกได้ว่าเป็นดนตรีวัยรุ่นโดยสมบูรณ์ ซึ่งแจ๊สทุกวันโน้นก็ไม่ได้หน้าตาเหมือนทุกวันนี้ที่เราเข้าใจกัน และดนตรีแจ๊สยุคนั้นทุกวันนี้เขาจะเรียกว่า “สวิงแจ๊ส” (Swing Jazz)
อย่าเข้าใจผิดว่าเพลงแจ๊สยุคนั้นคนจะนั่งฟังนักดนตรีอิมโพรไวซ์กันอย่างทุกวันนี้ เพราะบรรยากาศของดนตรีแจ๊สยุคนั้นมันคือดนตรียอดฮิต “ดนตรีร้านเหล้า” ที่คนฟังเขาไม่มานั่งเฉยๆ เขาเต้นกัน
และพอดนตรีแบบนี้ได้รับความนิยมมากๆ มันก็ต้องเล่นในที่ใหญ่ขึ้น เพื่อคนจะได้เต้นกันมากขึ้น แต่ยุคนั้นเทคโนโลยีขยายเสียงมันไม่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วงแจ๊สมันเลยต้องขยายใหญ่เพื่อให้เล่นเสียงดังขึ้น และนั่นคือที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “บิ๊กแบนด์” ซึ่งเป็นช่วงที่แจ๊สบูมสุดๆ ในช่วง 1930s ในอเมริกา
ที่นี้พอเข้ามา 1940s นักดนตรีแจ๊สในอเมริกาที่โคตรยิ่งใหญ่ทั้งหลายเริ่มมีความรู้สึกว่าพวกเขาเบื่อที่จะเล่นดนตรีให้คนออกมาเต้น เพราะดังที่หลายๆ คนรู้กัน นักดนตรีแจ๊สนั้นชอบการอิมโพรไวซ์ และการอิมโพรไวซ์ยาวๆ นี่คือเรื่องปกติตอนเล่นจริง (แต่เราจะไม่เห็นอะไรพวกนี้ในงานบันทึกเสียงยุคแรก เพราะ “แผ่นเสียงมาตรฐาน” สมัยโน้นมันอัดเพลงได้ฝั่งละ 2-3 นาที เพลงมันเลยยาวเท่านั้น)
แต่ทีนี้ถ้าคนมันจะฟังแจ๊ส แล้วจะกินเหล้ากัน จะเต้นกัน ใครมันจะสนใจเพลง? หรือพูดอีกแบบจะตั้งใจเล่นไปทำไมถ้าคนไม่ตั้งใจฟัง? ซึ่งตรงนี้จะบอกว่ามันถึงจุดของประวัติศาสตร์ที่นักดนตรีแจ๊สคนดำอเมริกันเริ่มมองตัวเองว่าเป็น “ศิลปิน” ไม่ใช่ “นักดนตรีร้านเหล้า”
และตั้งคำถามว่าทำไมคนมันไม่นั่งตั้งใจฟังเพลงของพวกเขาแบบที่ฟังเพลงคลาสสิคของคนขาว? หรืองานของพวกเขาไม่ใช่ “ศิลปะ” พอ? ทำไมพอมันเป็นดนตรีคนดำ คนมันจะต้องฟังแล้วเต้นแร้งเต้นกาควบคุมตัวเองไม่ได้เสมอไป?
ในแง่นี้ นักดนตรีแจ๊สชื่อดังทั้งหลาย ก็เริ่มพยายามจะทำเพลงให้มัน “อาร์ต” ขึ้น คือเต้นยากขึ้นเพราะจังหวะเร็วเกินบ้าง หา “จังหวะตก” ไม่เจอบ้าง ใส่เมโลดี้ประหลาดๆ ที่ไม่ติดหูและอิมโพรไวซ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บ้าง
โดยยุคที่นักดนตรีแจ๊สทำแบบนี้คือยุค 1940’s ที่ถูกขนานนามว่า “ยุคบีบ็อป” หรือยุคที่เกิด “บีบ็อปแจ๊ส” () ที่ต้องหาคอร์ดประหลาดๆ โน๊ตประหลาดๆ มาเล่น จังหวะก็ห้ามเล่นจังหวะตกให้มัน “โยก” ได้ ไม่งั้นมันไม่แจ๊ส (ซึ่งก็คือวิธีคิดแบบ “แจ๊ส” ที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้นี่แหละ)
ตอนแรกคนฟังก็ดื้อ จะเต้นตามดนตรีประหลาดๆ นี้ แต่นักดนตรี ก็ดื้อเช่นกัน เล่นให้มัน “เต้นตามยาก” ขึ้น จนในที่สุดคนฟังก็ยอมแพ้ยอม “นั่งฟัง” ดนตรีแจ๊สแบบทุกวันนี้ในช่วงปลาย 1940’s
จะบอกว่านั่นคือ “ความตาย” ของดนตรีแจ๊สในฐานะดนตรียอดฮิตก็ได้ แต่นั่นก็เป็น “ความตาย” แบบ “จงใจ” คือนักดนตรีที่เรียกตัวเองว่าแจ๊สมันไม่เอาแล้วเล่นดนตรีมวลชนให้คนกินเหล้าเมาแล้วเต้น แต่มันอยากเล่นอะไร “อาร์ตๆ” ให้คนที่ตั้งใจฟังเท่านั้นฟัง แต่ปัญหาคือ แล้วคนจะเต้นกับอะไรล่ะ?
กระแสการจงใจทำเพลงยากๆ เพื่อให้คนเต้นตามไม่ได้ของนักดนตรีแจ๊สอเมริกันเริ่มในช่วงต้น 1940s และไปหนักข้อมากๆ ตอนกลาง 1940s ซึ่งผลก็คือทำให้พวกร้านเหล้านั้นปวดกบาลมาก เพราะพวกนักดนตรีแจ๊สที่ยุคนั้นเป็น “บิ๊กแบนด์” มันเริ่มเล่นอะไรที่คนไม่อยากเต้นกันมากขึ้น
และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบในปี 1945 บรรยากาศมันไม่หดหู่แล้ว คนมันเริ่มมองโลกในแง่ดีและออกมาสังสรรค์กันร้านเหล้ามากขึ้นแล้ว เศรษฐกิจกำลังจะทะยานแล้ว แต่วงแจ๊สตามร้านเหล้ายันไม่อยากเล่นดนตรีแบบเดิมอีกแล้ว แต่ถ้ามีเงินให้ มันก็มีนักดนตรีที่จะเล่นดนตรีให้คนเต้นแหละ
ในความเป็นจริงยุคนั้น ในขณะที่นักดนตรีกลุ่มหนึ่งพยายามจะทำแจ๊สให้ซับซ้อนขึ้น ให้ออกห่างจากบลูส์ที่เป็นรากฐานมากขึ้น และเรียกว่านี่แหละ “แจ๊สของแท้” ที่คู่ควรกับการนั่งตั้งใจฟัง
แต่นักดนตรีอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามทำกลับกัน คือจะทำให้ดนตรีแจ๊สให้มันเรียบง่ายขึ้น กลับไปหารากฐานแบบบลูส์ขึ้น มีจังหวะซ้ำๆ เมโลดี้ซ้ำๆ จังหวะกระแทรกๆ เพื่อให้คนเต้นได้ง่ายๆ
และพวกนักดนตรีกลุ่มหลังนี่แหละที่เขาเรียกว่า “จัมป์บลูส์” (Jump Blues) ในยุคนั้น โดยชื่อนี้มันได้มาเพราะว่า คนฟังยุคนั้นมันรู้สึกว่าเพลงมัน “มันส์จนคุณต้องกระโดด” อันเป็นทิศทางตรงข้ามกับพวก “แจ๊สของแท้” ในยุคเดียวกันที่พยายามจะทำเพลงให้มันฟังยากจนคุณต้องนั่งฟัง ซึ่ง “จัมป์บลูส์” ถ้าคุณฟังทุกวันนี้ คุณก็จะรู้สึกว่ามันคือดนตรีร็อคแอนด์โรลที่เครื่องดนตรีหลักเป็นแซ็กโซโฟน และเสียงเบสเป็นดับเบิลเบสดีๆ นี่เอง
พูดง่ายๆ ก็คือมันคือ ดนตรี “โปรโตร็อคแอนด์โรล” แท้ๆ เลย แค่เขาไม่เรียกกันแบบนั้น เพราะยุคนั้น ไปบอกว่าเล่น “ร็อคแอนด์โรล” มันไม่มีใครเข้าใจว่าหมายความว่ายังไง คำว่า “จั๊มบลูส์” มันตรงไปตรงมากว่ามากว่าคุณเล่นบลูส์ แต่บลูส์คุณไม่เศร้า และมันสนุกจนคนฟังฟังแล้วต้องกระโดดโลดเต้น
ดนตรีจัมป์บลูส์เริ่มฮิตช่วงครึ่งหลัง 1940s แต่ปัญหาคือ ชื่อมันไม่เท่พอ ทางค่ายเพลงก็เลยรีแบรนด์ดนตรีแนวนี้ใหม่โดยตอนแรกเรียกว่า “บลูส์แอนด์ริธึ่ม” (Blues & Rhythm) หรือพูดง่ายๆ ก็เรียกมันว่าบลูส์ที่มีจังหวะสนุกๆ